วันเสาร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประวัติศาสตร์ชุมชนทัดชาวิลล่า






ชุมชนทัดชา วิลล่า ได้ก่อสร้างขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยซอยแรกที่เริ่มสร้าง คือ ซอย 1 และซอย 5 (ชุมชนมีทั้งสิ้น 5 ซอย) จากนั้นในปี พ.ศ. 2538 จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นชุมชนตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2555 ว่าด้วยชุมชนและกรรมการชุมชน  โดยปัจจุบัน ในชุมชนมีประชากรชาย 371 คนประชากรหญิง 352 คน มีผู้พิการ 6 คนและผู้ป่วยติดเตียง 1 คน

พ.ศ. 2543 ส.ส. การุณ โหสกุล (อดีตประธานสภาสมาชิกสภาเขตดอนเมืองและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขต 12 สังกัดพรรคเพื่อไทย) ได้ประสานงานกับการเคหะ แห่งชาติ (National Housing Authority) เพื่อก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์ของชุมชน

จากนั้น พ. ศ. 2555 จึงได้ปรับปรุงศาลาเอนกประสงค์ของชุมชนอีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน (SML: Small-Medium-Large) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนตามแนวคิดการฟื้นฟู ชุมชน ให้มีพลังขับเคลื่อนสู่การแก้ปัญหาความยากจน  และสร้างโอกาสให้ประชาชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดสรรงบประมาณโดยตรงให้แก่ประชาชนในชุมชนนำไปแก้ไขปัญหาด้วยการบริหารจัดการกันเอง[ไม่เพียงเท่านั้น ทางชุมชนยังได้ใช้งบประมาณดังกล่าว ในการเปลี่ยนหลอดไฟตามทางเดินของทั้งชุมชนอีกด้วย
      
    ปี พ.ศ.  2554 เกิดมหาอุทกภัยในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 น้ำเริ่มท่วมบริเวณถนนพหลโยธินช่วงอนุสรณ์สถาน และเริ่มไหลเข้าท่วมพื้นที่อื่นๆในบริเวณรายรอบ ซึ่งทางชุมชนทัดชาวิลล่า ก็ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย และในช่วงเวลานั้นเอง ทางชุมชนได้เป็นข่าวลงเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เนื่องจากได้รวมกลุ่มกันเพื่อการยื่นหนังสือร้องทุกข์ถึงพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและผู้อำนวยการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ในขณะนั้น เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ภายในชุมชน
     
     ในช่วงปี พ. ศ. 2556 สำนักงานเขตดอนเมือง ได้สนับสนุนเครื่องเล่นออกกำลังกายและเครื่องเล่นต่างๆในสนามเด็กเล่น ไม่เพียงเท่านั้น ทางชุมชนยังได้นำงบประมาณจากกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน มาเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV : Closed-Circuit Television)  เป็นครั้งแรกภายในชุมชน เพื่อสอดส่องเหตุการณ์และรักษาความปลอดภัย อันเป็นประโยชน์ส่วนรวม ของคนในชุมชน
      
      พ. ศ. 2557 ได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน (Mini Health Center) โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เป็นผู้ดำเนินการภายใต้การดูแล สนับสนุน การให้คำปรึกษาและแนะนำจากเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข  จะต้องหมุนเวียนกันมาปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน เช่น การจัดยาในเบื้องต้น การวัดความดันผู้สูงอายุและเด็กในชุมชน รวมถึงการติดไฟสปอตไลท์ (Spot-Light) ที่ลานกีฬาของชุมชนด้วย

      พ.ศ. 2558 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ กศน.ชุมชน (การศึกษานอกโรงเรียน) โดยจัดการเรียนการสอนที่ศาลาเอนกประสงค์ชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจาก กศน.ดอนเมือง จัดส่งครูมาจัดกิจกรรมการเรียนการสอนทุกวันพุธ ซึ่งมักเป็นการเรียนการสอนแบบครึ่งวัน (9.00 น. – 12.00 น.)  นอกจากจะมีการเรียนการสอนแบบวิชาการแล้ว ทาง กศน.ดอนเมือง ยังได้จัดส่งครูมาเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมการฝึกอาชีพ โดยฝึกทำ“ต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง” ที่สำหรับใช้ในการตั้งถวายที่หิ้งพระ โต๊ะหมู่บูชา ศาลพระภูมิ  ศาลเจ้าที่ ฯลฯ โดยเป็นการฝึกทำเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
           
          นอกจากนั้น ยังได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ (ชมรม สว.) โดยมีคุณทิพย์วัลย์ อินโต เป็นประธานกรรมการและเป็นผู้รวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้มีการจัดกิจกรรมที่สร้างความสุข ความสนุกสนาน ตลอดจนการสร้างคุณค่าในตนเองและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่มผู้สูงอายุของชุมชน โดยกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมักทำร่วมกันเป็นประจำ ได้แก่ การรำกระบี่กระบองช่วงเช้า (7.00 น. – 7.30 น.) การเต้นแอโรบิคในช่วงเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ (17.30 น. – 18.30 น.) 
  
  
       และในช่วงเวลาเดียวกัน ยังได้มีการก่อตั้ง “ชมรมฟุตซอลทัดชา” คุณหริรักษ์ วีระเกษ และคุณธนวรรษ บุญนอก (โค้ชผู้ฝึกสอนฟุตซอล) เพื่อแก้ปัญหาเด็กในชุมชนติดเกมส์และให้เด็กได้ใช้เวลาว่างที่มีให้เกิดประโยชน์ด้วยการเล่นกีฬา โดยกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นโดยชาวชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชมรมฟุตซอลทัดชา การเต้นแอโรบิค การรำกระบี่กระบอง ฯลฯ ยังคงเป็นกิจกรรมที่ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ร่วมกันของชาวชุมชนนั่นเอง.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น